“นิด้า” มุ่งสู่ความเป็นเลิศ มาตรฐานสากล
เพิ่มมูลค่า เสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
“พลิกวิกฤต เป็นโอกาส ก้าวสู่การเรียนฉบับ New Normal”
แนวทางการรับมือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ของ “สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า” สถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ประกาศปิดการเรียนการสอนในสถาบัน และนำรูปแบบการเรียนออนไลน์มาใช้ได้ทันที
ด้วยเป้าหมายการเป็นสถาบันการศึกษาที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน “นิด้า” เป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งก่อตั้งโดยพระราชดำริของในหลวง ร.9 มีการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ได้กำหนดกลยุทธ์การปรับตัว ทั้งในด้านการเรียนการสอน หลักสูตร คณาจารย์ และบรรยากาศการเรียนการสอนที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา
“ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่าการเกิดโรคโควิด -19 ถือเป็นโอกาสและตัวเร่งในการขับเคลื่อน ทำให้สถาบันได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน และพัฒนาในหลายเรื่องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การปรับการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด อาจารย์มีความตื่นตัวในการสร้างบทเรียนออนไลน์มากขึ้น และทางสถาบันได้มีการใช้ Microsoft 365 และ Microsoft Teams ในการเรียนการสอน การทำงานของบุคลากร และการจัดประชุมต่าง ๆ รวมถึงมีการจัดเป็นฟอรั่ม Expert Sharing ให้แก่ คณาจารย์ และบุคลากร เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิคการใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ร่วมกัน
“นิด้า มีนโยบายในการพัฒนาการเรียนการสอนโดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อรองรับการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งการเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นแบบ Smart Classroom มีการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) และการเรียนแบบ Blended Learning หรือการเรียนแบบผสมผสาน ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำห้องเรียนต้นแบบ Smart Classroom ไว้แล้ว 1 ห้อง และมีแพลนจะขยายสร้างอีก 7-8 ห้องในปีการศึกษา2564 นี้ โดยห้องดังกล่าวจะมีเทคโนโลยีหลากหลาย สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ อาจารย์สามารถสอนในคลาสเรียนและสอนออนไลน์ได้ ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนยุคใหม่ คนวัยทำงาน และคนทุกช่วงวัยที่สนใจการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการบริจาคจากงาน Proud To Be NIDA กว่า 7 ล้านบาท” ศ.ดร.กำพล กล่าว
ตอนนี้เทคโนโลยีสามารถหาได้หากมีเงิน แต่สิ่งที่ยาก คือ การสร้างเนื้อหา บทเรียนรูปแบบการสอนอาจารย์ เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้ามีเทคโนโลยีแต่อาจารย์ไม่ได้นำมาใช้ นักศึกษาก็ไม่ได้ประโยชน์ หรือไม่ได้ใช้ห้องเรียนเท่าที่ควร
ศ.ดร.กำพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานิด้าพยายามผลักดันการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนเป็นไปได้ช้า แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ถือเป็นความจำเป็นในการสร้างนวัตกรรม การเรียนรูปแบบใหม่ ๆ ตอนนี้อาจารย์ทุกคนของนิด้าสามารถสอนออนไลน์ได้ และมีบทเรียนออนไลน์จำนวนมาก รวมทั้งทุกคนเห็นข้อดีและพร้อมปรับตัวไปเรียนแบบออนไลน์มากขึ้น เพราะการเรียนออนไลน์มีประโยชน์อย่างมาก สามารถประเมินนักศึกษาในชั้นเรียนได้ว่ามีความรู้ในสิ่งที่เรียนหรือไม่ เนื่องจากอาจารย์สามารถสร้างการประเมิน คำถามที่วัดความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา และได้เพิ่มเติมจุดที่นักศึกษาไม่เข้าใจ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี ทุกคนใช้แอพพลิเคชั่น แชท ไลน์ในการสื่อสารเกิดความใกล้ชิด
“เราพยายามทำให้เกิด Eco system ที่ให้อาจารย์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และการเรียนจะมีลักษณะเป็นโคชชิ่งมากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้เนื้อหาทุกคนสามารถหาได้ ทำให้อาจารย์ต้องเอาโจทย์ปัญหาจริง และให้โอกาสนักศึกษามาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งคอนเซปนี้มีมานานในนิด้า รวมถึง มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา นิด้ามีจุดเด่นในการพัฒนากรณีศึกษา โดยพยายามให้อาจารย์เขียนกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเล่าเรื่องในรูปแบบแอนิเมชั่น ใส่ไว้ในแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการดึงดูดให้นักศึกษาเกิดความสนใจ และทำให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น” ศ.ดร.กำพล กล่าว
ด้วยการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจการเรียนในระบบและปริญญา “นิด้า” ได้เริ่มโครงการ Global Certification ประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่นักศึกษา รวมถึงคนวัยทำงาน หรือคนทุกช่วงวัยที่ต้องการอัพศักยภาพ ทักษะเฉพาะทาง และโอกาสในการทำงานมากยิ่งขึ้น
อธิการบดีนิด้า กล่าวอีกว่านิด้ามีจุดเด่นในด้านศักยภาพของอาจารย์ ซึ่งหลายท่านได้ไปสอบ Global Certificate และมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาปริญญาโทหลักสูตร MBA ได้มีโอกาสไปเรียนกับอาจารย์ที่ได้ไปสอบ Global Certificate ทำให้นักศึกษาไปสอบและตอนนี้นักศึกษาคนดังกล่าวแม้จะเรียนไม่จบแต่มีใบ Global Certificate ทั้งหมด 5 ใบ มีบริษัทงานต่างชาติเข้ามาติดต่อ ดังนั้น นิด้าจะจัดทำเมนู Global Certification ให้นักศึกษาที่อยากมาเรียน คนวัยทำงานที่อยากรีสกิล หรืออัพสกิล ก็สามารถมาเรียนและสามารถไปสอบ Global Certificate และสามารถเรียนต่อปริญญาโท โดยเก็บสะสมหน่วยกิตได้ อีกทั้งจะมีหลักสูตร Non degree เพื่อคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ปีการศึกษา 2564 จะมีการเปิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์สิ่งที่นักศึกษาน่าจะรู้ในอนาคต โดยหลักสูตรใหม่มีชื่อว่า Master of Science in Technology and Innovation Design for Sustainable Development (MSc in TIDSD) โดยยึดสร้างองค์ความรู้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1. เทคโนโลยี เน้นเรื่อง Data Analytics Technology เพราะโลกตอนนี้และหลังจากนี้เวลาจะแก้ปัญหาอะไรต้องเริ่มต้นจากข้อมูล และนักศึกษาต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล 2.การคาดการณ์ในอนาคต (Strategic Foresight) ประเทศต้องมีความสามารถในการคาดการณ์ในอนาคต 3. Design Thinking กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และ 4. การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหา โดยทั้ง 4 กรอบนี้ นิด้ามีพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ เช่น ในในเรื่อง Data Analytic Technology นิด้ามี Decision Science Institute ที่สหรัฐอเมริกา เป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ ด้าน Strategic Foresight นิด้ามีความร่วมมือกับ East-West Center ที่สหรัฐอเมริกา และ Higher School of Economics ที่รัสเซีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคต ในส่วนของ Design Thinking นิด้า เป็น University Innovation Fellow (UIF) กับ d-school ที่ Stanford University ที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ ในหลักสูตรยังมีการจัดกระบวนการเรียนการสอน ที่การสอดแทรกเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ Independent Study (IS) ที่นักศึกษาใช้จบการศึกษา จะเป็นการทำงานเป็นทีมและต้องเป็นโจทย์ปญหาจากทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ โดยนักศึกษาต้องสร้างนวัตกรรมในมิติต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาของประเทศและสังคม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้นิด้าจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ตอนนี้มีสถาบันการศึกษามากมาย และทุกคนสามารถเรียนผ่านหลักสูตรออนไลน์ได้ทั่วโลก การเลือกเรียนของนักศึกษาต้องเริ่มจากความชอบ และสำรวจตลาดงาน รวมถึงต้องดูประสบการณ์ที่ตนเองเรียนรู้ วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และมีภัยคุกคามของตนเองว่ามีอะไร ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมทั้งควรดูเทรนด์ว่าในอนาคต อาชีพต้องการองค์ความรู้อะไรบ้าง เพราะปริญญาอย่างเดียวไม่พอ และเมื่อเข้าสู่ตลาดงานไม่ได้แข่งกับนักศึกษาในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องแข่งกับนักศึกษาทั่วโลก ทำอย่างไรจะเพิ่มมูลค่าให้แก่ตนเองได้” อธิการบดีนิด้า กล่าวทิ้งท้าย
//////////////////////////////////////
?️บทสัมภาษณ์พิเศษ
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ
อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563